หากได้ไปเที่ยวภูฏาน สิ่งที่จะเห็นอยู่ตลอดทางคือ เจดีย์ ชาวภูฏานเรียกว่า โชร์เต็น ซึ่งมีทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ บางองค์ก็ตั้งอยู่ตรงกลางถนนก็มี บางองค์ก็อยู่ริมแม่น้ำ
แล้วแบบนี้เจดีย์ หรือ โชร์เต็นในภูฏานมีที่มีที่ไปยังไง มีความหมายยังไง โอ๊ย…คำถามเต็มหัวไปหมด งั้นมาเฉลยกันดีกว่า
เจดีย์ ในภาษาภูฏาน เรียกว่า โชร์เต็น Chorten (ภาษาสันสกฤตเรียกสถูปหรือเจดีย์) ถือเป็นที่รองรับสักการบูชา และในเขตหิมาลัยยังนับถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระพุทธ จึงทรงความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ชาวภูฏานจะกระทำทักษิณาวรรต (การเดินเวียนขวา) รอบพระเจดีย์เพื่อแสดงออกซึ่งศรัทธาปสาทะ และเพื่อสร้างสมบุญกุศลให้กับตนเอง
ตำนานทางพุทธศาสนาระบุว่า การสร้างเจดีย์มีขึ้นเป็นครั้งแรกในอินเดียและสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งกษัตริย์จากแว่นแคว้นต่างๆได้รับแบ่งสันปันส่วนไป หลังงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จสิ้นลง เจดีย์จึงได้กลายมาเป็นสถานที่แห่งการสักการบูชานับจากนั้นเป็นต้นมา
เจดีย์ มีองค์ประกอบทั้งหมดห้าส่วน เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทั้งห้า ได้แก่ ฐานแทนธาตุดินองค์ระฆังแทนธาตุน้ำ ฉัตร 13 ชั้นแทนธาตุไฟ พระอาทิตย์กับพระจันทร์แทนธาตุลม รัศมีส่วนยอดแทนอากาศธาตุ (เชื่อกันว่าเป็นธาตุที่ห่อหุ้มจักรวาลเบื้องบนเอาไว้) นอกจากนี้ฉัตรทั้ง 13 ชั้นยังหมายถึงขั้นตอนสำคัญทั้ง 13 ขั้นที่มนุษย์เราต้องฝ่าฟันไปให้ได้เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน
จนทุกวันนี้การสร้างเจดีย์ในเขตหิมาลัยก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป เจดีย์ที่สร้างมีจำนวนนับพันองค์ บ้างสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระอริยบุคคลท่านสำคัญ บ้างสร้างขึ้นอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย หรือไม่ก็สร้างขึ้นเพื่อสะกดวิญญาณภูตผีปีศาจไม่ให้ออกมารังควานชาวบ้าน
ในภูฏานจะเชื่อว่า ทุกจุดที่แม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกัน จะเป็นที่รวมของวิญญานชั่วร้าย จึงมีการสร้างเจดีย์ หรือวัดไว้ตรงจุดที่แม่น้ำบรรจบกันเพื่อทำการสะกดวิญญาณชั่วร้ายนั้น
เจดีย์ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ปิดทึบ มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็มีบ้างบางองค์ที่สร้างเป็นซุ้มประตูหรือวิหารอยู่ข้างใน (อย่างเจดีย์ที่วัดดุงเซในเขตหุบเขาพาโรและเจดีย์อนุสรณ์ในหุบเขาทิมพู)
การสร้างเจดีย์มีพิธีกรรมและพิธีการต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย แต่พิธีที่สำคัญที่สุดคือพิธีบรรจุ “ต้นไม้แห่งชีวิต” (แกนไม้จารึกบทสวดมนต์) พระพุทธรูป คัมภีร์และสมบัติทางศาสนาเอาไว้ภายในพระเจดีย์ ก่อนจักทำพิธีสมโภชพระเจดีย์ขึ้นเป็นขั้นตอนสุดท้าย การขุดกรุทำลายพระเจดีย์ถือเป็นความผิดบาปขั้นร้ายแรง
โชร์เต็น หรือ เจดีย์ หรือ สถูป (Stupa) ที่ใช้กันในภูฏานมีอยู่ทั้งหมด 3 แบบ คือ
1. ทรงทิเบต ที่ฐานจะเป็นสี่เหลี่ยม มีทรงระฆังคว่ำอยู่ตรงกลาง และมียอดฉัตรอยู่บนสุด
2. ทรงเนปาล จะเป็นทรงระฆังคว่ำ