โรคจากการขึ้นที่สูง ในภาษาอังกฤษ มีคำเรียกอยู่หลายคำ คือ Altitude sickness หรือ Altitude illness หรือ Mountain sickness คือ กลุ่มอาการที่เกิดเนื่องจากการขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ที่สูงมากกว่าพื้นที่ทั่วไปมาก เช่น การขึ้นภูเขาสูง หรือไปอยู่ในประเทศที่อยู่ในแถบพื้นที่สูงๆของโลก เช่น ทิเบต, ลาดักห์, พูนฮิลด์, Everest Base Camp, โบลิเวีย, มาชูปิชู ในเปรู เป็นต้น
Altitude sickness โรคนี้เกิดกับใครได้บ้าง
- Altitude sickness นี้มักจะเกิดกับผู้คนที่มาจากที่ราบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,500 เมตร เช่น กรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 50 เมตร ทำให้คนจากกรุงเทพฯที่ไปเที่ยวเลห์ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,500 เมตร จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้
- และแม้แต่ผู้ที่เกิดบนที่ราบสูงเกินกว่า 3,000 เมตร หากจากบ้านเกิดมานานหลายปี เมื่อกลับไป ก็อาจเกิดอาการ Altitude sickness ได้ในระยะสัปดาห์แรกที่เข้าเขตที่สูง
- Altitude sickness นี้ไม่เกี่ยวกับความแข็งแรง หรือ ความฟิตของร่างกายแต่อย่างใด นักกีฬาโอลิมปิกก็เป็นโรคนี้ได้ ในขณะที่ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย อาจไม่เป็นโรคนี้เลย เพราะโรคนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวกับอากาศบนที่สูงของแต่ละบุคคล
สูงแค่ไหนถึงทำให้เกิด Altitude Sickness
โดยทั่วไปมักจะเริ่มมีอาการกันที่ความสูง 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่บางคนอาจจะมีอาการได้ตั้งแต่ 2,500 เมตร ซึ่งพบได้น้อยมาก (จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง)
ในรายที่ร่างกายปรับตัวกับความสูงที่ 3,000 – 3,500 เมตรได้แล้ว ก็อาจจะมีอาการอีกครั้งที่ความสูง 3500 – 4,000 เมตรได้ และถึงปรับตัวกับความสูงที่ 4,000 เมตรได้ ก็อาจมีอาการได้อีกครั้งที่ความสูงมากกว่า 4,000 เมตรได้ด้วย ซึ่งอาการจะมีหรือไม่มี จะมีมากหรือน้อย นอกจากขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละบุคคลแล้ว และยังขึ้นกับกิจกรรมที่ทำ ระยะเวลาที่อยู่ในแต่ละความสูง และสภาพแวดล้อมด้วย เช่น หากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีพืชและแหล่งน้ำเลย ก็จะมีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่า ที่ที่มีต้นไม้และทะเลสาบ เป็นต้น
Altitude sickness โรคนี้เกิดได้อย่างไร
ก่อนที่ทุกคนจะเดินทางไปยังที่สูง อันดับแรกควรทำความเข้าใจกับ Altitude sickness นี้ให้ดีเสียก่อน จึงจะทำให้ไม่ตระหนกจนเกิดนไป แต่ต้องตระหนัก ไม่ละเลยเช่นกัน
Altitude sickness นี้แปรผันตรงกับปริมาณออกซิเจนในอากาศ ยิ่งสูง ปริมาณออกซิเจนยิ่งน้อย ดูได้จากตารางด้านล่าง
จากตารางด้านบน เริ่มต้นที่ ความสูง 0 เมตร (กรุงเทพฯเราก็อยู่ระดับนี้) จะมีปริมาณออกซิเจนที่ 20.9% ของปริมาณธาตุต่างๆในอากาศ
ถ้าเราไปเที่ยวเลห์ ลาดักห์ ที่อินเดีย ซึ่งมีระดับความสูงที่ 3,500 เมตร ซึ่งอยู่ในระดับที่ราบสูง และมีปริมาณออกซิเจนในอากาศเหลือแค่เพียง 13.2-13.7% ทำให้ร่างกายของผู้ที่มาจากกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวกับปริมาณออกซิเจนในอากาศที่ลดลง
ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
haamor.com/th/โรคจากขึ้นที่สูง
กลไกการเกิดโรคจากขึ้นที่สูง ยังไม่ทราบชัดเจน แต่การศึกษาสนับสนุนว่า เกิดจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เนื่องจาก ในที่สูง/การขึ้นเขาสูง ออกซิเจนในอากาศจะเจือจางลง และความดันอากาศจะลดต่ำลง ส่งผลให้ให้ความดันออกซิเจนในเลือดต่ำลงด้วย รวมทั้งอากาศที่หนาวเย็น จะส่งผลให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น เพื่อใช้ให้พลังงานเพื่อคงอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังมักมีภาวะขาดน้ำ จากการใช้พลังงาน/เสียเหงื่อในการขึ้นเขา และน้ำที่ระเหยจากการหายใจที่เมื่อขึ้นเขา ทุกคนจะหายใจเร็วขึ้น(ภาวะระบายลมหายใจเกิน/Hyperventilation) ทั้งหมดจึงส่งผลให้เกิด ภาวะร่างกายขาดออกซิเจน(Hypoxia หรือ ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย), ภาวะเลือดเป็นด่างจากคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำจากหายใจออกมากผิดปกติ/ภาวะระบายลมหายใจเกิน, และภาวะขาดน้ำ
ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย และภาวะขาดน้ำ จะส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต/เลือด ความดันโลหิตจะต่ำลง ร่างกายต้องปรับตัวเพื่อคงความดันโลหิต และเพื่อให้อวัยวะสำคัญ คือ สมอง และปอดได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ร่างกายจึงหลั่งสารเคมีในกลุ่ม Catecholamines ซึ่งจะกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว แรงขึ้น เพิ่มความดันโลหิต และเพิ่มการทำงานของผนังหลอดเลือด
ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย ยังกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตของปอดและของสมอง เพื่อเพิ่มเลือด เพื่อเพิ่มออกซิเจน
ภาวะต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการในเบื้องต้นที่เรียกว่า ‘Acute Mountain sick ness (AMS)’ ซึ่งถ้าปรับตัวได้และดูแลตนเองได้ทัน อาการต่างๆมักฟื้นกลับเป็นปกติได้ภายใน 2-3 วัน
แต่ถ้าร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวได้ หรือมีการขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีเลือดคั่งในเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น มือ เท้า แต่ที่สำคัญ และที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง คือ เลือดคั่งในปอด และในสมอง ซึ่งเมื่อมีเลือดคั่ง น้ำจากหลอดเลือดจะซึมออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือด จึงก่อให้เกิดมีการบวมของ มือ เท้า แต่ที่สำคัญ คือมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อปอด/ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) เกิดอาการที่เรียกว่า ‘เอชเอพีอี (HAPE หรือ High altitude pulmonary edema)’ และสมองบวมน้ำจากมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อสมอง (Brain edema) เกิดอาการที่เรียกว่า ‘เอชเอซีอี (HACE หรือ High altitude cerebral edema)’ ซึ่งทั้งสองอาการจัดเป็นอาการที่รุนแรง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
โรคจากขึ้นที่สูงมีอาการอย่างไร? มีความรุนแรงอย่างไร?
อาการของโรคจากขึ้นที่สูง มีได้ 3 กลุ่มอาการตามความรุนแรงของอาการจากน้อยไปหามากดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ’โรคฯเกิดได้อย่างไร?’ คือ AMS, HAPE, และ HACE
ก. AMS (Acute Mountain sickness) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยที่สุด รุนแรงน้อยที่สุดในทั้ง 3 กลุ่มอาการ มักเกิดขึ้นประมาณ 6-10 ชั่วโมงหลังจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูง อาการแรกสุด คืออาการปวดศีรษะ แต่ปวดไม่มาก
และมีการร่วมดังต่อไปนี้อีกอย่างน้อย 1 อาการ คือ
- อ่อนเพลีย
- รู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนล้า ไม่มีแรง
- มีอาการทางด้านทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- หัวใจเต้นเร็ว (ชีพจรเต้นเร็ว) เหนื่อย หายใจลำบาก (เมื่อออกแรง)
- วิงเวียน มึนงง จะเป็นลม และ
- นอนไม่หลับ
AMS พบเกิดได้ประมาณ 10-60% ขึ้นกับระดับความสูง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ บทนำ มักเกิดภายใน 6-10 ชั่วโมงหลังขึ้นไปอยู่ในที่สูง และอาการจะดีขึ้นภายหลังการดูแลตนเองภายใน 1-2 วัน (อาการมากขึ้นในช่วงกลางคืน และเมื่อตื่นนอนเช้า เพราะเป็นช่วงความดันโลหิตต่ำกว่าช่วงเวลาอื่นๆ) ด้วยการพักผ่อน สูดดมออกซิเจน และลงมาอยู่ในพื้นที่มีความสูงปกติ
ข. HAPE (High altitude pulmonary edema) หรือ อาการจากภาวะปอดบวมน้ำ เป็นอาการที่รุนแรงกว่า AMS พบได้ประมาณ 0.1-4% โดยจะต้องมีอาการดังจะกล่าวต่อไปอย่างน้อย 2 อาการ คือ
- ขณะพัก ก็หายใจลำบาก
- ไอ (เสลดมักเป็นฟอง และอาจมีเลือดสดปน)
- อ่อนเพลียมากขึ้น
- ออกแรงไม่ไหว
- และ/หรือ แน่นหน้าอก
และถ้าตรวจดูจะพบอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการเช่นกัน คือ
- ใบหน้าและ/หรือลำตัวเขียวคล้ำ
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจเร็ว
- และ/หรือ ถ้าฟังเสียงหายใจ (อาจด้วยหูฟัง) จะได้ยินเสียงผิดปกติ เช่น เสียงหวีด หรือ เสียงแซมหายใจ/เสียงหายใจผิดปกติที่เรียกว่า Rale
HAPE มักเกิดในช่วงกลางคืนเช่นกัน และมักเกิดประมาณวันที่ 1-3 หลังจากขึ้นที่สูง โดยพบว่าเมื่อขึ้นที่สูง 2,500 เมตรประมาณ 15-20 % จะเกิดภาวะนี้ได้ ถ้าไม่ได้รับการรัก ษาทันท่วงที โดยเฉพาะการต้องลงมาจากที่สูง มาอยู่ในพื้นที่ความสูงปกติ มีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 40% แต่ถ้าได้รับการรักษารวดเร็ว ผู้ป่วยจะกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ค. HACE (High altitude cerebral edema) หรือ อาการจากสมองบวมน้ำ คือ ผู้ ป่วยจะมีอาการทางสมองร่วมด้วยกับอาการต่างๆทั้งในภาวะ AMS และในภาวะ HAPE เป็นอาการที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มอาการที่เกิดจากโรคจากขึ้นที่สูง พบได้ประมาณ 0.1-4% เช่นกัน โดยมีอาการสำคัญ คือ
- เดินเซ/เดินได้ไม่ตรง ต่อจากนั้น คือ
- อาการสับสน
ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการต้องลงมาอยู่ในพื้นที่ความสูงปกติ ผู้ป่วยจะโคม่าในระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงหลังเกิดอาการทางสมอง
HACE มักเกิดต่อเนื่องมาจากการไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเมื่อเกิด AMS และ HAPE โดยอาการจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืนเช่นกัน เมื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะฟื้นกลับเป็นปกติได้ในระยะเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งโอกาสเสียชีวิตจะประมาณ 15-20% และถ้าเกิดโคม่า โอกาสเสียชีวิตจะประมาณ 60%
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากขึ้นที่สูง?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากขึ้นที่สูง คือ
- การขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว เพราะร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน
- การออกแรงมากในที่สูง เช่น เดินเร็ว วิ่ง เพราะจะเพิ่มความต้องการการใช้ออกซิ เจนของร่างกาย
- ภาวะขาดน้ำ
- คนที่มีถิ่นพักอาศัยบนพื้นที่ใกล้ระดับน้ำทะเล เพราะร่างกายไม่เคยปรับตัว
- คนที่เคยมีอาการ AMS มาก่อน
- คนที่มีเม็ดเลือดแดงต่ำ (ภาวะซีด) เพราะจะขาดออกซิเจนได้ง่ายกว่า
- เป็นโรคหัวใจ หรือเป็นโรคปอด ซึ่งถือเป็นข้อห้ามในการขึ้น/ท่องเที่ยวในสถานที่สูง
- ความสูงของสถานที่ ยิ่งสถานที่สูง โอกาสเกิดอาการจะสูงขึ้น
- ตำแหน่งที่ตั้งหรือภูมิศาสตร์ของพื้นที่สูงแต่ละแห่ง เพราะมีความดันอากาศแตกต่างกัน จึงส่งผลต่อโอกาสเกิดภาวะขาดออกซิเจนแตกต่างกัน
- อาจเกี่ยวข้องกับ เชื้อชาติ และพันธุกรรม
- สำหรับคนที่เคยอยู่ในที่สูง หรือเพิ่งท่องเทียวในที่สูงมา จะลดโอกาสเกิด AMS เพราะสมองจดจำสภาพนั้นมาไว้แล้ว
แพทย์วินิจฉัยโรคจากขึ้นที่สูงได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคจากขึ้นที่สูงได้จาก
- ประวัติการท่องเที่ยว การเดินทาง
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดซีบีซีดูปริมาณเม็ดเลือดแดง
- และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วยและตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอภาพสมอง เป็นต้น
รักษาโรคจากขึ้นที่สูงได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคจากขึ้นที่สูง ที่ดีที่สุด คือ การกลับลงสู่พื้นที่ปกติ เพราะการพยายามให้การดูแลรักษาบนพื้นที่สูงมักอันตราย ยกเว้นมีโรงพยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ หรือทีมแพทย์/พยาบาลที่ชำนาญการเตรียมไว้พร้อมแล้ว
ก. การดูแลรักษา ภาวะ AMS คือ พัก หยุดการออกแรง ให้ออกซิเจน ดื่มน้ำให้เพียงพอ อาการมักจะดีขึ้นภายใน 12-36 ชั่วโมง
ถ้ามีอาการรุนแรง ควรพยายามลงมาที่ราบให้เร็วที่สุด อาจต้องใช้ถุงเพิ่มความดันออกซิเจนในการช่วยนำผู้ป่วยกลับลงมา บางครั้งแพทย์แนะนำให้ยาขับน้ำในสมอง และในปอด ชื่อ Acetazolamide แต่ก็ได้ผลเฉพาะในบางคน หรือบางครั้งอาจฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์(Steroid) เพื่อช่วยลดการบวม แต่ก็เช่นกัน ไม่สามารถพยากรณ์ผลได้
เมื่อลงมาถึงพื้นราบ การรักษาคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การรักษาภาวะขาดน้ำ การให้ออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้ยาปรับความดันโลหิต และการให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ
ข. HAPE: การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับลงมายังพื้นราบและไปโรงพยาบาลทันที่เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากสถานที่มีเครื่องมือและยาต่างๆในการที่จะรักษาอาการปอดบวมน้ำ เช่น การให้ออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ยาช่วยบรรเทาอาการบวมน้ำของปอด/ปอดบวมน้ำ เช่น ยา Nifedipine
ค. HACE: การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับลงมายังพื้นราบและไปโรงพยาบาลทันที่เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากสถานที่มีเครื่องมือและยาต่างๆในการที่จะรักษาอาการสมองบวมได้ เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยา Dexamethazone และการใช้เครื่องช่วยหายใจ
โรคจากขึ้นที่สูง มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไป เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวดเร็ว ผู้ป่วยจะฟื้นกลับเป็นปกติ และไม่มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนใดๆ แต่ทั้งนี้ เมื่อกลับไปขึ้นที่สูงอีก โอกาสเกิดโรคจากขึ้นที่สูงก็จะสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดภาวะปอดบวมน้ำ/ HAPE และ/หรือภาวะสมองบวม/ HACE ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดโรคจากขึ้นที่สูง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนการขึ้นที่สูง และเมื่อขึ้นที่สูง ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นเสมอ
- เมื่อเริ่มมีอาการ ที่สำคัญที่สุด คือ อาการปวดศีรษะ ต้องหยุดพักการออกแรงต่างๆ พักร่างกายให้เต็มที่เพื่อลดความต้องการออกซิเจนของร่างกาย สูดดมออกซิเจน และดื่มน้ำสะอาด ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ แล้วรีบกลับลงมายังพื้นราบ
- อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อน และเป็นอาหารที่ย่อยง่ายในกลุ่มอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) และ
- เมื่ออยู่บนพื้นราบแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แต่ถ้า*อาการเลวลง ควรไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
- นอกจากนั้น ต้องรีบพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
- มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- ไอ หรือไอเป็นเลือด
- หรือเริ่มมีปัญหาเดินเซ หรือสับสน
ป้องกัน Altitude sickness โรคจากขึ้นที่สูงได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากขึ้นที่สูง ดังนั้นวิธีป้องกันโรคจากขึ้นที่สูงที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ
- การปรับตัวให้ร่างกายรับได้กับภาวะมีออกซิเจนและมีความกดอากาศต่ำ ซึ่ง คือ การค่อยๆปรับระดับความสูง เดินขึ้นช้าๆ อย่าออกแรงมาก หยุดพักไปเรื่อยๆ และ อย่าให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ
นอกจากนั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน คือ
- รู้จักสถานที่ที่จะไป รู้ว่ามีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เสมอ รู้จักอาการเริ่มต้นของภาวะนี้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ เพื่อการปรับตัว และการป้องกันไม่ให้เกิดอาการมาก ขึ้น
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่สูบบุหรี่
- อาหาร: ผู้นำทางบางคนแนะนำให้กินอาหารคาร์โบไฮเดรต เพราะเชื่อว่าในการย่อย จะใช้ออกซิเจนต่ำกว่าอาหารให้พลังงานกลุ่มอื่น คือ โปรตีน และไขมัน แต่การศึกษาต่างๆยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดในเรื่องอาหาร รวมถึง วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ ยาและสมุนไพรพื้นบ้าน ที่สามารถป้องกันโรคจากการขึ้นที่สูงได้ แต่โดยทั่วไปมักแนะนำให้กินอาหารมื้อละน้อยๆ แต่เพิ่มมื้ออาหารให้มากขึ้น ดังนั้นการทำตามคำแนะนำของผู้นำทางจะเป็นประโยชน์ที่สุด
- เตรียมออกซิเจนเสริมให้พอเพียง
- เมื่อรู้สึกเริ่มมีอาการผิดปกติ ต้องพัก หรือล้มเลิกการเดินทาง ควรรีบกลับลงสู่พื้นราบให้เร็วที่สุด
- ถ้าเป็นไปได้ ในการท่องเที่ยว ควรกลับลงมานอนในพื้นที่ราบเสมอ เพราะดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการว่า อาการต่างๆมักรุนแรงในช่วงกลางคืน
- เมื่ออยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป หรือเมื่อสงสัยมีปัญหาสุขภาพ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนเดินทาง ซึ่งอาจจำเป็นต้องกินยาบางชนิดล่วงหน้า เช่น ยาขับน้ำ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้เพราะยาที่ใช้เพื่อการป้องกันเหล่านี้มีผลข้างเคียงได้ แพทย์จึงต้องเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสม
- ในการเดินทาง ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำทางเสมอ และเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการ ต้องรีบแจ้งให้ผู้นำทางทราบทันที
- ไม่เดินทางขึ้นที่สูงเมื่อมีโรคหัวใจ และ/หรือโรคปอด
อ่าน Altitude Sickness โรคจากการขึ้นที่สูง ฉบับย่อได้ที่นี่ --> โรคจากการขึ้นที่สูง ฉบับย่อ Altitude Sickness #2