ในบทความครั้งที่แล้วได้อธิบายเกี่ยวกับ โรคจากการขึ้นที่สูง Altitude Sickness อย่างละเอียดไว้แล้ว เมื่อได้ทำความเข้าใจโรคนี้จากบทความที่แล้วเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะเดินทางก็อาจจะจำรายละเอียดไม่ได้ เลยจัดทำฉบับย่อขึ้นมา เพื่อง่ายกับการทบทวน
แต่ยังไงก็แนะนำให้อ่านบทความครั้งก่อนอย่างน้อย 1 รอบนะคะ เพราะการทำความเข้าใจกับโรคนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการปฏิบัติตัวระหว่างเดินทางบนที่สูง
เข้าไปอ่านได้ที่นี่ --> Altitude Sickness #1 โรคจากการขึ้นที่สูง แบบละเอียด
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ โรคจากการขึ้นที่สูง (Altitude Sickness)
อาการ โรคจากการขึ้นที่สูง Altitude Sickness เกิดจากปริมาณออกซิเจนในอากาศน้อยกว่าในที่ราบ และภาวะขาดน้ำ โดยมากจะมีอาการแพ้ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป (มีบางคนอาจเริ่มรู้สึกตั้งแต่ 2,500 เมตรขึ้นไป)
ออกซิเจนมีหน้าที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย เมื่อออกซิเจนในอากาศน้อยลง ดังนั้นเราต้องเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย โดยการดื่มน้ำมากๆ เพราะในน้ำมีออกซิเจน ปริมาณที่ควรดื่มควรมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน หรือ จนปัสสาวะหายเหลือง ถึงจะทำให้ร่างกายปรับตัวได้ไวขึ้น การเคลื่อนไหวช้าๆก็ช่วยให้หัวใจไม่ต้องสูบฉีดโลหิตมากเกินไป ทำให้เลือดสูบฉีดไปถึงสมองได้มากขึ้น ปรกติร่างกายคนทั่วไปใช้เวลาในการปรับตัวกับความดันอากาศที่เปลี่ยนไปประมาณ 4-7 วัน
- ชาวเนปาลเชื่อว่า การรับประทานกระเทียมสดจะช่วยป้องกันโรคแพ้ความสูงได้
- ชาวอินเดียเชื่อว่า การรับประทานขิง ช่วยบรรเทาอาการโรคแพ้ความสูงได้
- ชาวทิเบตและชาวหิมาลัยเชื่อว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์จากวัวและจามรี เช่น นม เนย ชีส และ เนื้อวัว เนื้อจามรี เนื้อแพะ จะช่วยเสริมพลังให้ร่างกายสามารถต่อต้านโรคแพ้ความสูงได้ดี
- ควรพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดลมไหลเวียน
อาการของ โรคจากการขึ้นที่สูง Altitude Sickness
จะเป็นมากขึ้นในเวลากลางคืน และเมื่ออากาศหนาว
อาการจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 – อาการที่ถือว่าไม่รุนแรง และให้ดื่มน้ำและเคลื่อนไหวตัวช้าๆ – ระดับ AMS
สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด ปวดหัว ทานยาก็ไม่หาย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ นอนราบไม่ได้ หรือ ง่วงนอนตลอดเวลา มือเท้าบวม เลือดกำเดาไหล หากเป็นหนักจะต้องนำลงสู่พื้นที่ต่ำ เคยมีรายงานว่า อาการอาจเกิดได้อีกครั้งเมื่อกลับลงมายังที่ต่ำแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ แต่อาการไม่มาก ดังนั้นหากท่านมีอาการใดๆควรแจ้งเพื่อนร่วมทาง และไกด์ไว้เพื่อช่วยกันปฐมพยาบาล
อาการทั้งหมดสามารถบรรเทาได้โดยการดื่มน้ำมากๆๆๆๆ อย่าให้เกิดภาวะขาดน้ำ อย่ากลัวว่าจะต้องเข้าห้องน้ำบ่อย เพราะทุกคนก็ต้องดื่มน้ำมากๆ และเข้าห้องน้ำเหมือนกัน
ระดับที่ 2 – อาการที่ต้องเฝ้าระวัง ต้องบอกเพื่อนหรือไกด์ และต้องเริ่มใช้ออกซิเจน และดื่มน้ำมากขึ้น – ระดับ HAPE
- ขณะพัก ก็หายใจลำบาก
- ไอ (เสลดมักเป็นฟอง และอาจมีเลือดสดปน)
- ออกแรงไม่ไหว
- และ/หรือ แน่นหน้าอก
- ใบหน้าและ/หรือลำตัวเขียวคล้ำ
- หายใจเร็ว
- และ/หรือ ถ้าฟังเสียงหายใจ (อาจฟังด้วยหูฟัง) จะได้ยินเสียงผิดปกติ เช่น เสียงหวีด หรือ เสียงแซมหายใจ/เสียงหายใจผิดปกติที่เรียกว่า Rale
ระดับที่ 3 – อาการแค่ไหนที่ต้องหยุดการเดินทาง และเข้าพบแพทย์โดยด่วน – ระดับ HACE
- เดินเซ/เดินได้ไม่ตรง
- อาการสับสน
ควรทาน Diamox ก่อนไปที่สูงไหม
จริงๆไม่ค่อยแนะนำให้ทาน เพราะ Diamox เป็นยาขับน้ำในสมองและในปอด ไม่ได้เป็นยาแก้โรคแพ้ความสูงโดยตรง แถมยานี้คนแพ้ซัลฟา ห้ามทาน ผลข้างเคียงที่อาจมี ชาที่ริมฝีปาก ปลายนิ้ว การรับรสเปลี่ยน และในบางคนอาจไม่ได้ช่วยอาการโรคแพ้ความสูงเลย
ควรจะเน้นช่วยร่างกายปรับตัวตามธรรมชาติดีกว่า คือ เดินช้าๆ และดื่มน้ำมากๆ
ยาสามัญและส่วนเสริมที่แนะนำให้นำติดตัวไปด้วย ใช้ในกรณีมีอาการ โรคจากการขึ้นที่สูง Altitude Sickness
- ยาขับลม เช่น Air-ex หรือ ENO หรือ Mc77 แนะนำให้เป็นชนิดเม็ดสำหรับเคี้ยว
- ยาช่วยย่อย
- พาราเซตตามอล
- ยาดม
- ยาแก้หวัด ระวังอย่าให้เป็นหวัด
- ยาแก้อักเสบที่หลอดลม ทอมซิล
- ขิงผงสำเร็จรูป เพราะหากมีอาการโรคแพ้ความสูงจะไม่อยากอาหาร การรับประทานน้ำขิงร้อนๆจะช่วยได้อย่างดี
- Chocolate Bar เช่น Snicker หรือ Mars เพราะหากมีอาการโรคแพ้ความสูงจะไม่อยากอาหาร ชอคโกแลตแท่งจะช่วยให้พลังงานทดแทนได้อย่างดี และ Dark Chocolate ช่วยทำให้การหมุนเวียนโลหิตและความดันโลหิตในร่างกายดีขึ้น
- กระเทียมสด ให้ผลดีในการช่วยปรับสมดุลร่างกายในที่ที่มีความดันอากาศสูง
ข้อปฏิบัติเมื่ออยู่ในที่ราบสูง
1) ดื่มน้ำมากๆ ดื่มจนปัสสาวะหายเหลือง
2) เคลื่อนไหวช้ามากๆ
3) ทำสมาธิกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ กำหนดจิตไว้ที่ปลายเท้าเวลาต้องเดินขึ้นบันได หรือที่สูง
4) ห้ามนอนคลุมโปง
5) ไม่ควรใส่หน้ากากปิดจมูก ในที่ที่มีอากาศไม่ถ่ายเท หรือ เมื่อรู้สึกหอบ
6) ก่อนเข้าสู่พื้นที่ที่มีความดันอากาศสูง ควรนอนหลับให้เพียงพอ
7) วันแรกที่เข้าสู่พื้นที่ที่มีความดันอากาศสูง ควรพักอยู่นิ่งๆ เพื่อปรับร่างกาย
8) คนที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด และความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์
9) ถึงไม่รู้สึกอยากอาหาร แต่ก็ต้องฝืนทานบ้างในปริมาณไม่น้อยเกินไป การรับประทานของหวานเช่น ชอคโกแลตบาร์ก็ช่วยเพิ่มพลังงานได้
เคยมีลูกทัวร์ที่เบื่ออาหารแล้วไม่ยอมฝืนทานอะไรเลยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ กลายเป็นโรคความดันต่ำ
10) ก่อนนอนทุกครั้งควรเปิดหน้าต่างให้อากาศในห้องนอนถ่ายเทบ้าง ถึงแม้อากาศจะหนาวมากก็ตาม หากนอนที่แคมป์ก็ต้องเปิดให้อากาศถ่ายเทเช่นกัน เพราะอากาศที่บางอยู่แล้ว หากปิดช่องระบายอากาศจะทำให้อากาศในห้องยิ่งน้อยลงไปอีก และคนที่อยู่ในห้องก็หายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้ป่วยได้ง่าย ไม่ต้องห่วงหนาวจนปิดช่องระบายอากาศทั้งหมด
11) หนุนหมอนให้สูงกว่าปรกติเล็กน้อย
หมายเหตุ
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่เขียนออกมาแบบย่อๆ ด้วยคำง่ายๆ สามารถอ่าน Altitude sickness โรคจากบนที่สูง อย่างละเอียดได้ที่ --> Altitude Sickness #1 โรคจากการขึ้นที่สูง แบบละเอียด