วันนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของการกราบ
เวลาคนไทยกราบพระ เรามักจะกราบด้วยวิธีที่เรียกว่า “เบญจางคประดิษฐ์” ตามรูป
แต่หากเราไปเที่ยวภูฏาน ทิเบต หรือ เมืองพุทธแบบมหายานในแถบหิมาลัย เราจะได้เห็นวิธีการกราบอีกแบบหนึ่ง โดยผู้กราบจะแนบลำตัวไปกับพื้น วิธีการกราบแบบนั้นเรียกว่า “อัษฎางคประดิษฐ์”
อัษฎางคประดิษฐ์ ในภาษาทิเบต เรียกว่า ชากเซล (Chag Tsel) โดยคำว่า ชาก (chag) หมายถึง กายศักดิ์สิทธิ์ วาจาศักดิ์สิทธิ์ และจิตศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตต์ทั้งหลาย ส่วนคำว่า เซล (tsel) หมายถึงการที่เราอุทิศตนอย่างจริงจังและจริงใจที่จะก้าวตามรอยพระพุทธบาทบน หนทางอันถูกต้องมุ่งสู่การบรรลุเป็นพระโพธิสัตต์หรือพระพุทธเจ้า
สำหรับผู้ที่ออกจาริกแสวงบุญที่เคร่งครัดมากๆ จะออกเดินสามก้าวแล้วลงกราบอัษฎางคประดิษฐ์หนึ่งครั้ง แล้วออกเดินอีกสามก้าว แล้วก้มกราบอัษฎางคประดิษฐ์หนึ่งครั้ง ทำแบบนี้เรื่อยไปจนถึงจุดหมาย ซึ่งมักจะอยู่ห่างไกลมาก บางคนใช้เวลาหลายเดือนในการไปถึงจุดหมาย นับว่ามีศรัทธาแรงกล้า เรามักจะพบการจาริกแบบนี้ในทิเบต แอดมินเคยเจอในภูฏานครั้งนึง ตอนที่เดินทางไปทางภาคตะวันออก แอดมินเลยขอทำบุญส่งเสริมท่านผู้จาริกไปด้วยเลย
กลับมาดูเรื่องการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์กันต่อ หากท่านไปทิเบต ท่านจะได้เห็นการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์แทบทุกวัด หากท่านไปเที่ยวภูฏาน ท่านจะเห็นได้มากที่ Memorial Chorten ในเมืองทิมพู โดยทั้งวันจะมีเหล่าพุทธศาสนิกชนมาเดินเวียนรอบเจดีย์ใหญ่พร้อมกับนับลูกประคำและท่องบทสวดมนต์ และตรงลานข้างๆจะเห็นมีกลุ่มคนตั้งหน้าตั้งตากราบแบบเอาตัวแนบไปกับพื้น หรือ แบบอัษฎางคประดิษฐ์ กราบลงไปแล้วลุกขึ้นมาก็กราบอีกดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด ได้รับการบอกเล่าว่า ชาวพุทธมหายานแบบทิเบต เชื่อว่าการกราบแบบเอาอัษฏางคประดิษฐ์นั้นจะช่วยชำระล้างบาปได้หากกราบไปถึงจำนวนที่มากพอ
ในแต่ละวัน แต่ละคนสามารถกราบได้ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันครั้งเลยทีเดียว
วันนี้แอดมินเลยนำวิธีกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์มาเสนอ โดยขอนำบางส่วนของข้อเขียนของจากเฟสบุคคุณ Kornkit Disthan เรื่องการกราบอัษฎางคประดิษฐ์แบบทิเบต มาถ่ายทอดให้อ่านกัน
ตามธรรมเนียมทิเบตนิยมกราบแบบอัษฏางคนิมิต คือ ร่างกาย ๘ ส่วนสัมผัสพื้น ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง มิใช่หมายถึงการสยบยอมอย่างโง่เขลา แต่เป็นการขัดเกลาตัวเองให้พ้นมลทิน กระบวนการกราบนั้นเริ่มจากการพนมมือในท่าประคองรัตนะ คือนิ้วทั้ง ๔ แนบชิดกัน ส่วนนิ้วหัวแม่มืองอเข้าไปในพุ่มพนม
๑. จังหวะแรกยกพนมที่เหนือศีรษะ และจรดหน้าผาก พิจารณาและชำระกายกรรม
๒. จังหวะที่สองยกพนมที่ลำคอ พิจารณาและชำระวจีกรรม
๓. จังหวะสามยกพนมที่หน้าอก พิจารณาและชำระมโนกรรม
๔. ค่อยๆ น้อมร่างลงให้ทั้ง ๕ ส่วนสัมผัสกับพื้น ชำระ “ปัญจกเลศวิษะ” คือ กิเลศทั้ง ๕ ประการได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ริษยา เมื่อชำระกายวาจาใจและกิเลศแล้วจะได้รับปัญญาญาณทั้ง ๕ ประการ คือ ธรรมธาตุญาณ (รู้เแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง), อทรรศนญาณ (รู้แจ้งในปรากฏการณ์ธรรมทั้งปวง), สมตาญาณ (เล็งเห็นสรรพสิ่งเท่าเทียมกัน), ปรัตเยกกษนาญาณ (เล็งเห็นว่าสรรพสัตว์ล้วนเสมอเหมือนกัน), กฤตยานุษฐานญาณ (รู้ในสมมติฐานของสรรพสัตว์)
หัวใจของการกราบคือการถ่อมตน และชำระกาย วาจา ใจ เพื่อเปิดปัญญาญาณนั่นเอง
ในภูฏานส่วนใหญ่ตามวัดเค้าจะไหว้แบบครึ่งนึง ดังภาพ